บทความน่ารู้จาก CEO
6 กลยุทธ์เลือกลงทุนหุ้นไอพีโอ
หลังจากที่ปลายปี 2566 สถานการณ์หุ้นไอพีโอค่อนข้างซบเซา มีหลายบริษัทแม้ว่าจะได้รับอนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ขายได้แล้ว..แต่ก็ยังไม่ขาย เพราะยังรอดูสถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ก่อน
พอเปิดปีใหม่มานี้ บจ.น้องใหม่ที่เข้ามาทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นรายแรกคือ บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด (มหาชน) หรือ ADVICE เปิดการซื้อขายวันแรก ที่ 5.65 บาท เพิ่มขึ้น 2.41 บาท หรือ 74.38% จากราคาไอพีโอ 3.24 บาท และปิดตลาดที่ระดับราคา 5.25 บาท เพิ่มขึ้น 62.04%
ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจอย่างยิ่ง ทำให้ตอนนี้มีไอพีโอน้องใหม่อีกหลายบริษัทเข้าแถวรอเข้าไปเคาะระฆังเทรดวันแรกอีกไม่ต่ำกว่า 5-6 บริษัทภายในเดือน ก.พ.-มี.ค.นี้
แต่ก็นั่นแหล่ะเท่าที่ได้ติดตามข่าวคราวของตลาดหุ้นตอนนี้มูลค่าการซื้อขายต่อวันไม่ค่อยคึกคักมากนัก และในส่วนของนักลงทุนต่างชาติเองยังมีการขายออกต่อเนื่อง นั่นน่าจะหมายความว่าตอนนี้เงินที่หมุนวนอยู่ในตลาดหุ้นตอนนี้คือเงินก้อนเดิมของนักลงทุนภายในประเทศ ไม่ได้มีเม็ดเงินใหม่งอกขึ้นมาเลย ขณะที่เงินเก่าที่เป็นส่วนของต่างชาติยังคงไหลออกไม่หยุด
เป้าหมายของการลงทุนก็เพื่อให้ได้ผลตอบแทน ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นกับการบริหารจัดการที่แตกต่างกันออกไป แต่สำหรับท่านที่ชื่นชอบลงทุนในห้องไอพีโอ ไม่ทราบว่าเคยพิจารณาหรือไม่ว่าหุ้นนั้นเหมาะที่จะเข้าไปลงทุนรึป่าว หรือว่า..ลงทุนไปอย่างนั้นล่ะ!!! เพราะได้รับการจัดสรรมา //ซื้อๆ ไป ถือว่าช่วยมาร์เก็ตติ้งให้ได้มีค่าคอมมิสชั่น // ซื้อก็ได้เผื่อฟลุ๊กกำไร..หรือถ้าขาดทุนก็คงไม่มากเท่าไหร่
ทุกบาททุกสตางค์คือเงินในกระเป๋าของเรานะคะ ..ไม่ควรกระเด็นออกไปแล้วหายต๋อม! ..จะดีกว่ามั้ยถ้าท่านมีเกณฑ์ในการตัดสินใจที่ชัดเจน มีการศึกษาหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในเบื้องต้นก่อนที่จะลงทุน อย่างน้อยน่าจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะขาดทุนลงไปได้อีกระดับหนึ่งเลยล่ะ
สละเวลาซักนิดเพื่อความปลอดภัยของเงินในกระเป๋าเราค่ะ ..หุ้นไอพีโอก่อนที่จะขายหุ้นได้นั้น ต้องยื่นข้อมูลที่เรียกว่าแบบไฟลิ่ง เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต.พิจารณา อันนี้ละค่ะ!!! นักลงทุนสามารถไปหาข้อมูลไฟลิ่งได้ทั้งจากเวบไซต์ของ ก.ล.ต. หรือ ตลาดหลักทรัพย์เพื่อศึกษาในเบื้องต้นได้ก่อนเลย
ส่วนเกณฑ์ในการพิจารณาว่าหุ้นไอพีโอตัวนั้นควรซื้อหรือไม่ควรซื้อ ที่อยากแนะนำให้นักลงทุนศึกษาก่อนมีประมาณ 6 ประเด็น ดังนี้
- การประกอบธุรกิจ ต้องถอดรหัสให้ได้ว่า บริษัททำธุรกิจอะไร อยู่ในอุตสาหกรรมใดและมีโอกาสเติบโตมากน้อยแค่ไหน กลุ่มลูกค้าเป็นใคร โครงสร้างรายได้และต้นทุนเป็นอย่างไร การแข่งขันในอุตสาหกรรมรุนแรงมากน้อยแค่ไหน คู่แข่งหลักของบริษัทคือใคร ส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ทราบถึงทิศทางในอนาคตของธุรกิจนั้นๆ ว่าทิศทางเป็นอย่างไร
- ปัจจัยเสี่ยง เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้เรารู้ว่าความเสี่ยงมีอะไรบ้าง บริษัทมีการเตรียมรับมือหรือบริหารความเสี่ยงต่างๆ ไว้มากน้อยแค่ไหน
- ฐานะทางการเงินย้อนหลัง เพื่อดูว่าผลการดำเนินงานในอดีตว่าแข็งแกร่งและมีศักยภาพทำกำไรดีสม่ำเสมอหรือไม่ อัตราการเติบโตเป็นอย่างไร รวมทั้งวิเคราะห์อัตราส่วนการเงินที่สำคัญอื่นๆ เพราะจุดนี้เราสามารถนำไปเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อทำให้เข้าใจตำแหน่งหรือจุดแข็งจุดอ่อนทางการเงินของบริษัทได้ด้วย
- วัตถุประสงค์การระดมทุน เราต้องรู้ว่าเค้าเอาเงินไปทำอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น ขยายกำลังการผลิต เพื่อชำระคืนหนี้ หรือ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ซึ่งจะทำให้เราสามารถวิเคราะห์ถึงโอกาสเติบโตของผลการดำเนินงานในอนาคต
- ข้อมูลเสนอขายหุ้น IPO อันนี้สำคัญเลยต้องรู้ว่าจะขายไอพีโอกี่หุ้น ราคาขายเท่าใด และเสนอขายให้กับผู้ลงทุนกลุ่มไหนบ้าง (รายใหญ่ รายย่อย สถาบัน กรรมการและผู้มีอุปการคุณ) รวมถึงเงื่อนไขอื่นๆ อย่างเช่น การออก Greenshoe option หรือ การกำหนดช่วงเวลาห้ามขายหุ้น (Silent period) เป็นต้น เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นมากๆ เลย
- การประเมินมูลค่ากิจการผ่าน P/E, P/BV หรือ P/Sales เรื่องนี้สำคัญนะ!! สามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับลักษณะธุรกิจและข้อมูลที่มี แต่วิธีที่ง่ายๆ สำหรับนักลงทุนก็มี เช่น เปรียบเทียบราคา IPO กับ มูลค่าตามบัญชี (P/BV) หรือ กำไรต่อหุ้น (P/E) ที่คาดการณ์ของบริษัท แล้วนำมาเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อให้รู้ถึงการกำหนดราคา IPO เพราะบางครั้งบริษัทอาจตั้งราคาจองซื้อ IPO สูงเกินไปทำให้ไม่มีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดี หรือ ประเมินมูลค่ากิจการเอง โดยนำค่า P/E, P/BV หรือ P/Sales ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม (หาข้อมูลได้จาก www.settrade.com ) คูณกับ EPS, BVS หรือ Sales ที่คาดการณ์ของบริษัท
มาถึงตรงนี้แล้ว..หวังว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนทุกท่านไม่มากก็น้อยนะคะ