บทความน่ารู้จาก CEO
ESG : เรื่องที่ทั้งโลกต้องช่วยกัน “ไออาร์ เน็ตเวิร์ค” ช่วยลดโลกร้อน-ลดก๊าซเรือนกระจก

คำว่า “ESG” ในวงการตลาดทุนของเราตอนนี้มีคนพูดถึงและได้ยินบ่อยมากๆๆๆๆๆ แต่ก่อนที่จะเข้าไปถึงตลาดทุนขอแวะมาทางนี้ก่อนเพื่อให้ทุกท่านได้เห็นภาพใหญ่คือ รัฐบาลไทยได้ไปทำข้อตกลงในที่ประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศอังกฤษที่จะให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065
ESG ย่อมาจาก Environmental (สิ่งแวดล้อม), Social (สังคม), และ Governance (ธรรมาภิบาล) เป็นแนวคิดที่เน้นการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารจัดการองค์กร
ประเทศไทยของเราได้ตั้งเป้าคาร์บอนเป็นกลาง และ Net Zero ของก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ให้สั้นลงนั้น จะทำให้อุณหภูมิของโลก ไม่สูงขึ้นถึง 1.5-1.6 องศาเซลเซียล และทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ซึ่งในการปรับปรุงแผนระยะยาว จะมีการปรับเป้าหมายการจะก้าวสู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นกลางใน ปี 2030 และก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2035 ก็ตั้งเป้าที่ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40 % จากเดิมที่มีเป้าหมายลด 30%
จากการประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) พบว่า หากอุณหภูมิของโลกเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 2°C จะส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 69 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในแถบเอเชียใต้ที่จะได้รับความเสียหายมากถึง 20-30% ของ GDP ซึ่งแน่นอนว่าจะมีผลต่อพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับตลาดทุน ESG คือเทรนด์ในการลงทุนที่กำลังได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจากเป็นแนวคิดที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน ด้วยธุรกิจที่มี ESG ที่ดีจะสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพของการเติบโตในระยะยาว และการลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นเทรนด์การลงทุนที่นักลงทุนบุคคลและนักลงทุนสถาบันทั่วโลกให้ความสนใจ ท่ามกลางวิกฤติการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้น การลงทุนจึงไม่ใช่เป็นเพียงการมุ่งหวังผลกำไรเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบ การจัดการด้านสังคม และการจัดการด้านธรรมาภิบาล สอดคล้องกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยพิจารณาผลการดำเนินงานทั้งสามด้าน 1.สิ่งแวดล้อม 2.สังคม และ 3.ธรรมาภิบาล/บรรษัทภิบาล
(มีรายงานว่าจากข้อมูลของ MSCI พบว่า บริษัทที่มีการดำเนินงานด้าน ESG ได้ดี หรือมีคะแนน MSCI ESG Score สูง จะมีความสามารถในการทำกำไรได้ดีกว่าบริษัทที่มี MSCI ESG Score ต่ำ หรือทำ ESG ได้ไม่ดี ที่สำคัญคือบริษัทที่ทำธุรกิจโดยคำนึงถึงทั้ง E, S, G แบบครอบคลุมทั้ง 3 มิติ จะมีผลตอบแทนที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับบริษัทที่คำนึงถึงเรื่อง E หรือ S หรือ G เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น)
ดังนั้นเรื่องของ ESG จึงกลายเป็นกติกาใหม่ในการทำธุรกิจ หลายประเทศเริ่มกำหนดให้ ESG เป็นมาตรฐานและข้อบังคับในการดำเนินงาน ธุรกิจทั่วโลกจึงต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรงเข้าขั้นวิกฤติ หรือแม้กระทั่งเรื่องสิทธิมนุษยชนที่กลายเป็นข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ นอกเหนือจากเรื่องจริยธรรมและความโปร่งใสในการทำธุรกิจที่เป็นมาตรฐานระดับพื้นฐานที่ยึดถือปฏิบัติกันมานานแล้ว นักลงทุนที่รู้จักและเข้าใจ ESG ก่อน ย่อมมีความได้เปรียบในการเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่กำลังจะมาถึง
และปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ได้กำหนดให้ธุรกิจหรือบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ต้องเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานด้าน ESG อย่างโปร่งใส เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน ดังนั้น บจ.เกือบทุกบริษัทต่างให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และได้เริ่มปฏิบัติการทางด้าน ESG อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว
สำหรับ “ไออาร์ เน็ตเวิร์ค” คือหนึ่งในฟันเฟืองเล็กๆ ที่อยู่ในวงการตลาดทุน..ขอมีส่วนร่วมด้วยการเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นพลังผลักดันช่วยให้เดินทางไปถึงเป้าหมายได้ตามกำหนดที่วางไว้ โดยสิ่งที่เราสามารถดำเนินการได้คือ E:Environmental โดยจะช่วยลดโลกร้อน ลดก๊าซเรือนกระจก ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานต่างๆ ใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ การ WFH เพื่อช่วยลดการปล่อยมลพิษจากการเดินทาง ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า แถมยังช่วยลดทั้งค่าใช้จ่ายของพนักงาน , ลดการใช้กระดาษ ด้วยการส่งสรุปรายงานเป็นไฟล์ดิจิตอลให้ลูกค้าแทน
นอกจากนี้ “ไออาร์ เน็ตเวิร์ค” ยังดำเนินการในด้านของ S : Social และ G : Governance ควบคู่ไปด้วย โดยได้ให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน ให้ความสำคัญกับพนักงานให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม รวมถึงการดูแลให้สวัสดิการต่างๆ อันพึงมีแก่พนักงาน ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการองค์กรเป็นระบบ โดยทุกขั้นตอนการดำเนินงานต้องโปร่งใส ยุติธรรม และสามารถตรวจสอบได้ตามหลักบรรษัทภิบาล
ในอนาคตบริษัทของเรายังมีเป้าหมายที่จะขยายการดำเนินการในวงกว้างออกไปมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทุกมิติของ ESG เพื่อประเทศของเราและเพื่อโลกของเรา ให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป
หมายเหตุ : เพิ่มเติมข้อมูลเพื่อความเข้าใจใน ESG ยิ่งขึ้น
“E” Environmental สิ่งแวดล้อม
ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นผลมาจากการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจย่อมมีการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าทุกธุรกิจล้วนมีส่วนในการทำร้ายโลกไม่มากก็น้อย ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่าที่สุดและทำให้ผลเสียจากการดำเนินธุรกิจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งอาจประเมินได้จากการใช้ตัวชี้วัดในด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสร้างของเสีย การปล่อยมลพิษ การลดการใช้กระดาษ การลดพลังงานไฟฟ้า การรีไซเคิล การประหยัดพลังงาน เป็นต้น
“S”Social สังคม
ประเด็นด้านสังคมหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งภายในและภายนอก ได้แก่ พนักงาน ลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนท้องถิ่น และผู้ทำงานในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เพราะธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องย่อมมีแนวโน้มที่การดำเนินงานของธุรกิจจะเป็นไปอย่างราบรื่น รวมทั้งได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าของธุรกิจ ซึ่งตัวชี้วัดด้านสังคมอาจประเมินได้จากความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงาน ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม การให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน การให้ความสำคัญกับแรงงาน สร้างความเท่าเทียมให้กับคนทุกกลุ่ม เช่น การให้โอกาสผู้พิการได้ทำงาน ความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน เป็นต้น
“G” Governance บรรษัทภิบาล
ประเด็นในด้านธรรมาภิบาลเป็นประเด็นของความโปร่งใสในการดำเนินงานของธุรกิจ รวมไปถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตและการตรวจสอบเพื่อผลประโยชน์ที่เป็นธรรมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของธุรกิจทั้งหมด ซึ่งอาจประเมินได้จากความโปร่งใสในการดำเนินงาน วัฒนธรรมองค์กร กฎ ระเบียบ สัดส่วน และนโยบายในการแบ่งผลตอบแทน การจัดการด้านภาษี โครงสร้างผู้บริหาร ความแตกต่างหลากหลายของผู้บริหารและคณะกรรมการของบริษัท ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การเปิดเผยนโยบายและขั้นตอนอย่างตรงไปตรงมา การดำเนินการเพื่อลดการทุจริตและคอรัปชันในองค์กร โดยทุกขั้นตอนการดำเนินงานต้องโปร่งใส ยุติธรรม และตรวจสอบได้ เป็นต้น